นิทรรศการเป็นสื่อการเรียนประเภทหนึ่ง ที่ใช้วิธีการนำสิ่งของมาแสดงไว้ให้ผู้ชมได้รับความรู้ตามที่ผู้จัดต้องการ และมิใช่มีแต่ความสำคัญในวงการศึกษาเท่านั้น ปัจจุบันนิทรรศการเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่มีบทบาทมาก และมีอิทธิพลมากทั้งในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ธุรกิจ สังคม การเมือง
อุตสาหกรรม การแพทย์ สาธารณสุข และอื่น ๆ โดยได้ใช้เทคนิคนิทรรศการให้ความรู้ชักชวน ชักจูง กระตุ้นในหลายรูปแบบ หลายเรื่องราวและขนาดของการจัด
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กุมุท อดีตคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า นิทรรศการ เป็นวิธีการอันทรงประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้ผู้คนสนใจในวัตถุและแนวความคิด เป็นวิธีทีมักสามารถเข้าถึงประชาชนได้ ในเมื่อวิธีการอย่างอื่นไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้เพราะเสน่ห์อันเกิดจากผลงานการรวบรวม สรรพสิ่งท้งหลาย การคัดเลือก การติดตั้ง และการจัดแสงที่ดี เป็นแม่เหล็กอันใหญ่ที่จะดึงดูด คนเหล่านั้นเข้ามาหามันได้อย่างง่ายดาย และในทรรศนะของผู้ชม หรือประชาชน นิทรรศการย่อหมายถึงโอกาสของการเห็น ความชื่นชม และการเรียนรู้บางอย่างที่เกินปกติวิสัยที่จะมีโอกาสเช่นนั้น
เสน่ห์ของนิทรรศการอยู่ที่ความพิเศษ หรือโอกาสที่หายากหรือจะหาชมได้เป็นบางครั้ง บางคราวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักไม่ฉวยโอกาสจากเสน่ห์การประชาสัมพันธ์ของนิทรรศการ นิทรรศการที่ดีนั้น ควรจะสรุป ถ่ายทอดความเป็นไปต่าง ๆ ของสิ่งที่ต้องการแสดงให้ประชาชนได้เห็น ได้เข้าใจอย่างแจ่มชัด รวดเร็ว และเพลิดเพลินด้วย ทั้งยังเป็นที่รวมของความก้าวหน้า อันจะเป็นแนวปฏิบัติในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ พร้อมทั้งเห็นทางแก้ตามกรณีด้วย
องค์ประกอบสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการจัดนิทรรศการ
การจัดนิทรรศการให้ได้ดีนั้น มีองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงอยู่หลายประการ ที่สำคัญคือ
ผู้ชม
การสื่อสารไม่ว่ารูปแบบใด จะได้ผลดีหรือไม่นั้นต้องอาศัยการวิเคราะห์ประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสารนั้นอย่างรอบคอบ เพราะจะต้องจัดการให้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาของการรับรู้และหลักจิตวิทยาสังคมของกลุ่มผู้รับสาร ซึ่งมีอยู่ต่าง ๆ กัน การออกแบบนิทรรศการจะต้องออกแบบให้ผู้ชมที่เป็นเป้าหมาย รับรู้ได้ถูกต้องและง่าย ในด้านจิตวิทยาสังคม สิ่งท่จะจัดจะต้องสอดคล้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของผู้ชมก่อน หมายถึงว่า ทำไมต้องรู้ว่าจะจัดให้ใครดู หรือผู้ดูเป็นใคร อาจเป็นเพราะ
- เขาเป็นลูกค้า
- เขากำลังเรียนเรื่องนี้อยู่
- เพื่อกระตุ้นความต้องการของเขา
ฯลฯ
เนื้อหา
เนื้อหาของการจัด ต้องนึกถึงว่าจะให้ประโยชน์แก่ผู้ชมแค่ไหน พิจารณาดูเนื้อหาที่จะจัดว่า มีวิธีการนำเสนอเนื้อหานั้นได้ดีกว่าการจัดนิทรรศการหรือไม่ ถ้าจัดจะหาสิ่งของมาแสดงตามเนื้อหาได้หรือไม่ การจัดนิทรรศการใหญ่ ๆ ทั้งหลาย บ่งให้เห็นว่านโยบายของการจัด ได้แก่ ความพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทความ หนังสือ หรือเอกสารประกอบภาพ หรือมีเนื้อหาที่นำเสนอบนเว็บไซด์ต่าง ๆ อยู่แล้ว สามารถอธิบายได้ดีเท่าหรือดีกว่า
ขนาดของนิทรรศการ
นิทรรศการจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แสดง และบริเวณเนื้อที่ในการจัดที่มีอยู่ นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการจัด ตลอดจน เวลาและทุนรอนสำหรับดำเนินการ ซึ่งมีผลต่อนิทรรศการด้วยเหมือนกัน เราอาจแบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 ขนาด ดังนี้
1. Display เป็นการจัดนิทรรศการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น จัดบอร์ด เผยแพร่ความรู้ นำสิ่งของมาตั้งวาง หรือจัดติดผนัง ที่ว่างตามห้องโถง ที่ว่าทางเดินระหว่างอาคาร บริเวณใต้ถุนตึก เป็นต้น เป็นการจัดที่ไม่ใหญ่โตมากนัก
2. Exhibition เป็นการจัดที่ค่อนข้างซับซ้อน ใหญ่โตกว่า Display ครอบคลุมเนื้อหามากขึ้น การจัดกว้างขวางขึ้น เสมือนกับเป็นการนำเอา Display หลาย ๆ Display มารวมกัน มีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้มากขึ้น ใช้พื้นที่กว้างขวาง เช่น ในสนามกีฬา ในบริเวณโรงเรียน ในลานวัด
การออกแบบการจัด
รูปแบบของการจัดนิทรรศการจะเป็นเช่นไร ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อหาของนิทรรศการเอง กับผู้ที่จะมาชม นิทรรศการเกี่ยวกับสงคราม การรบ อาจจะมีรูปแบบการจัด การให้แสง ที่แตกต่างจากนิทรรศการเกี่ยวกับการแพทย์ การพยาบาล สาธรณสุข และย่อมแตกต่างจากนิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรกล เป็นต้น
การออกแบบการจัดเป็นแบบใด ย่อมแล้วแต่เนื้อหาของเรื่อง และวัตถุสิ่งของที่จะนำมาแสดง หัวข้อพิจารณาเพื่อวางแผนออกแบบการจัดที่ควรคำนึงถึง ได้แก่
1. สถานที่ จะต้องรู้ว่า จัดที่ไหน ถ้าเป็นในอาคารต้องรู้ว่า ตรงไหน ห้องใด มีเนื้อที่เท่าใด ลักษณะพื้นห้องเป็นอย่างไร อยู่กลางอาคาร หรือหัวอาคาร มีประตูเข้า ออก อย่างไร ทิศทางของแสงที่เข้ามาทางประตูหน้าต่าง เป็นอย่างไร (หาเป็นเวลากลางวัน)
2. ลักษณะของเนื้อที่และการแบ่งส่วน อาจเป็นรูปสี่เหลี่ยนผืนผ้า สี่เหลี่ยวจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมคางหมู
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายในที่คงจะไม่กล่าวโดยละเอียด เพราะผู้คนส่วนมาก จะทำอะไรก็จะต้องวางแผนในการใช้จ่ายกันจนเคยชินแล้ว แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงในเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดนิทรรศการได้แก่
- ค่าซื้อ เช่น สิ่งของที่จะนำมาแสดง
- ค่าติดตั้ง รื้อถอน (ค่แรง)
- ค่าเช่าเครื่องมือ
- ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง ค่าตอบแทนคนขับรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ค่าประชาสัมพันธ์
- ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างยามรักษาการณ์
- ค่าคนทำความสะอาด
- ค่าประกันของเสียหาย
- ค่าตกแต่ง
- ค่าอาหาร - เครื่องดื่ม สำหรับบุคลากรผู้ร่วมงาน หรือผู้ที่มาให้ความช่วยเหลือ
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด
ระยะเวลาของการจัด
ระยะเวลาของการจัดนิทรรศการ หาเป็นนิทรรศการชั่วคราว มักจัดกันระหว่าง 1 - 7 วัน แต่บางอย่างอาจจัดหลายเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น แหล่งที่จะได้วัสดุสิ่งของมาแสดง งบประมาณ บุคลากร โปรแกรม ฯลฯ เวลานั้น อาจรวมถึงเวลาในการเตรียมการติดตั้งและรื้อถอน รวมทั้งการเดินทาง เพราะมีผลต่อค่าใช้จ่ายทั้งส้น นิทรรศการใหญ่ ๆ ต้องใช้เวลาในการวางแผนติดตั้ง และขนย้ายมากพอสมควร
สิ่งของที่จะนำมาแสดงและการติดตั้ง
สิ่งของที่จะนำมาแสดง ควรผ่านการพิจารณาในด้านคุณสมบัติบางประการเสียก่อน เพื่อให้นิทรรศการมีผลดีที่สุด เท่าที่จะคิดทำให้เป็นไปได้ เป็นธรรมดาการเลือกว่าจะนำวัตถุชนิดใดมาแสดงในนิทรรศการ ย่อมต้องแล้วแต่ว่าเรามีอะไรอยู่เท่าใด มีเนื้อที่สำหรับจัดเท่าใด ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง วัตถุที่นำมาแสดงแบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 พวก คือ วัตถุ 2 มิติ และวัตถุ 3 มิติ
วัตถุ 2 มิติ เช่น ภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาด แผนภูมิ แผนสถิติ แผนภาพ
เป็นต้น
วัตถุ 3 มิติ เช่น หุ่นจำลอง ของจริง ของที่ดองไว้ ไดโอรามา (Diorama) การจัดแสดงต้องให้ผู้ชมทราบว่า สิ่งนั้นคืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไร
ศิลปะการจัด
ศิลปะการจัด หมายถึง การเตรียมวัตถุสิ่งของที่จะนำมาแสดงให้อยู่ในสภาพที่ติดตั้งได้ และติดตั้งให้ถูกหลักศิลปะด้วย การต่อตู้สำหรับนิทรรศการ ควรต่อโดยเฉพาะสำหรับวัตถุที่จะนำมาแสดง ไม่ใช่นำตู้อะไรก็ได้มาใส่ก็ใช้ได้ การเตรียมวัตถุ 2 มิติ ควรใส่กรอบ หรือทำให้แข็งแรงทนทาน ทำให้มีศิลปะ สวยงาม มีคุณค่า อย่างน้อยก็ควรผนึกลงบนกระดาษแข็ง หรือแนบโฟม แล้วตัดแต่งกรอบให้เรียบร้อยสวยงาม ของแข็งก็มีหลายอย่าง เช่น เป็นผง เป็นเม็ด เป็นก้อน การตั้งแสดงต้องให้ผู้ดูรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นของแข็งหรือของเหลว
เทคนิคการเสริมคว่าน่าสนใจ
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในนิทรรศการก็คือ การแจก เช่น แจกสูจิบัตร (คู่มือการชมนิทรรศการ) ในสูจิบัตรอาจบอกวัตถุประสงค์ของการจัด รายชื่อกรรมการ ที่สำคัญคือเป็นไปในรูปของ Catalog คือ เป็นการแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า มีอะไร แสดงไว้ตรงไหนบ้าง มีการสาธิตเกี่ยวกับเรื่องใด หรือมีการให้บริการต่าง ๆ อะไรบ้าง โดยบอกเวลา สถานที่ อาจมีรูปภาพ คำบรรยายประกอบ
- การใช้เสียงเข้าช่วย เช่น มีเสียงประกอบ (Sound Effect) เมื่อกดปุ่ม จะมีเสียงคำบรรยาย หรือเสียงนกร้อง เสียงน้ำตก หรือเสียงประกอบที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ตั้งแสดง บางครั้งหากว่าเสียงจะรบกวนผู้ชมคนอื่น ก็อาจจะทำแบบให้ยกหูฟัง
- ใช้สีที่สะดุดตา เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม
การประเมินผล
การประเมินผล อาจทำเป็นแบบสอบถาม โดยแจกผู้ชมให้ทำเครื่องหมาย หรือกรอกข้อความสั้น ๆ ควรออกแบบให้ง่ายที่สุด ให้ผู้กรอกได้รับความยุ่งยากน้อยที่สุด เช่น อาจให้ทำเครื่องหมายถูก หรือวงกลม ในหัวข้อที่เขาเห็นด้วย หรือเห็นว่าเป็นจริง สำหรับข้อมูลของผู้ชม ก็แล้วแต่ว่าเราอยากจะรู้อะไรของเขา เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ เขาทราบว่าการจัดนิทรรศการนี้โดยทางใด
การประเมินอาจจะประเมินเกี่ยวกับเรื่องของเนื้อหา รูปแบบการจัด เช่น ผู้ชมได้รับความรู้จากนิทรรศการครั้งนี้มากน้อยเพียงใด วัตถุที่นำมาแสดงติดตั้งไว้เหมาะสมเพียงใด ทางสัญจรในนิทรรศการสะดวกเพียงใด สถานที่จำหน่าย บริการอาหาร เครื่องดื่ม เพียงพอหรือไม่เพียงใด ฯลฯ